ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสะสม” และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” นั่น คือ นอกจากลูกจ้างจะออมแล้ว นายจ้างยังช่วยลูกจ้างออมอีกแรงหนึ่งด้วย และนายจ้างจะจ่ายสมทบในจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าที่ลูกจ้างจ่ายสะสมเสมอ จึงอาจกล่าวได้ว่าการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้ สวัสดิการแก่ลูกจ้าง จึงช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างนานๆ

การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีการออมอย่างต่อเนื่อง มีวินัย และมีนายจ้างช่วยออมแล้ว ยังมีการนำเงินไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารโดยมืออาชีพที่เรียกว่า “บริษัทจัดการ” โดยดอกผลที่เกิดขึ้นจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน

เงินออมของสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเติบโตจากเงินสะสม และเงินสมทบที่ต้องมีการนำส่งเข้ากองทุนทุกเดือน รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของกองทุน อย่างไรก็ดี กองทุนจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้สมาชิก เนื่องจากจะสะสมยอดเงินทั้งหมดให้เป็นก้อนใหญ่ เพื่อเก็บไว้รอจ่ายคืนให้สมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพ เช่น เมื่อลาออกจากงาน นอกจากนี้ กองทุนจะไม่ให้สมาชิกถอนเงินออกบางส่วน เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกนำเงินไปใช้ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออมเงินเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ

สมาชิกกองทุนมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง โดยจะได้รับส่วนของเงินสะสมเต็มจำนวนทุกกรณี พร้อมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสะสม สำหรับในส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ซึ่งสมาชิกสามารถขอดูรายละเอียดของข้อบังคับกองทุนได้ที่คณะกรรมการกองทุน

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนงาน สมาชิกอาจขอคงเงินไว้ในกองทุนของนายจ้างเดิมเป็นการชั่วคราวเพื่อรอโอนเงินจากกองทุนเดิมไปออมต่อในกองทุนนายจ้างรายใหม่ ซึ่งเป็นการออมอย่างต่อเนื่องในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ เพื่อสมาชิกจะได้มีเงินออมจำนวนที่มากพอเมื่อถึงวันเกษียณอายุ และมีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้จนเกษียณอายุ เงินที่รับออกจากกองทุนจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวนด้วย

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

เงินที่ส่งเข้าหรือจ่ายออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งผลประโยชน์จากการลงทุนของกองทุน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบ EEE(Exempted, Exempted, Exempted) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ โดยหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 490,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่เสียภาษี

เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างของลูกจ้างแต่ละราย

2.ผลประโยชน์จากการลงทุนของกองทุน เช่นดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษี

3. เงินที่สมาชิกได้รับจากกองทุนเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส่วนที่เป็นเงินสะสมได้รับยกเว้นภาษี สำหรับเงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไขดังนี้

3.1 กรณีลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ

ก.หากสมาชิกมีระยะเวลาการทำงานน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีทั้งจำนวน
ข.หากสมาชิกมีระยะเวลาการทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปสามารถเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่น โดยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดหักได้อีกครึ่งหนึ่ง แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีทั่วไป ทั้งนี้ จำนวนวันทำงานตั้งแต่ 183 วันขึ้นไป นับเป็น 1 ปี น้อยกว่า 183 ให้ปัดทิ้ง

3.2 กรณีออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุ

ก. หากเกษียณโดยมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป เงินที่ได้รับจากกองทุนจะได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งจำนวน
ข. หากเกษียณโดยมีอายุไม่ถึง 55 ปี หรือเกษียณโดยมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนไม่ถึง 5 ปีให้คำนวณภาษีเช่นเดียวกับข้อ 3. 1

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ

ข้อบังคับกองทุนจะต้องกำหนด หลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ โดยสมาชิกจะมีสิทธิได้รับคืนเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนและผลประโยชน์ ของเงินสะสมทั้งจำนวน ในทุกกรณี ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบซึ่งเป็นส่วนที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน นั้น สมาชิกจะมีสิทธิได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน (vesting rule) กรณีที่ข้อบังคับกองทุนไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆไว้ ให้ถือว่านายจ้างประสงค์จะให้สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของ เงินสมทบเต็มจำนวน

  • การกำหนดเงื่อนไขให้สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบข้อบังคับกองทุนสามารถกำหนดเงื่อนไขตามอายุงาน หรืออายุสมาชิกก็ได้
ตัวอย่าง
อายุงาน ได้รับเงินสมทบ
น้อยกว่า 1 ปี ร้อยละ   10
ตั้งแต่ 1 ปี – 5 ปี ร้อยละ   50
ตั้งแต่  5 ปีขึ้นไป ร้อยละ 100

อย่างไรก็ดี  แม้ข้อบังคับกองทุนจะสามารถกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานได้ แต่ไม่ควรกำหนดระยะเวลานานเกินไปจนสมาชิกไม่มีโอกาสที่จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์เลย ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง

  • จำนวนกองทุนที่จ่ายเงินสมทบตามอายุงานหรืออายุสมาชิก

จาก ฐานข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พบว่า กองทุนเกือบ 100% มี การกำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ ไว้ไม่เกิน 10 ปี โดยแยกการจ่ายตามอายุงาน หรือตามอายุสมาชิก ซึ่งช่วงที่ได้รับความนิยมที่สุดสำหรับการได้จ่ายเงินสมทบพร้อมทั้งผล ประโยชน์เงินสมทบทั้ง 100%  คือ อายุงาน/อายุสมาชิกน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี

ฐานข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพและมีสิทธิได้รับเงินสมทบของนายจ้างเต็มจำนวน

ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2552

กำหนดเงื่อนไขตามอายุงาน

กำหนดเงื่อนไขตามอายุสมาชิก

  • เหตุที่ทำให้สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ

ข้อ บังคับกองทุนสามารถกำหนดเหตุที่สมาชิกจะไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผล ประโยชน์ได้ แต่ต้องไม่เป็นการตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

  • การห้ามตัดสิทธิสมาชิกที่ไม่มารับเงิน

ในกรณีที่ข้อบังคับกองทุนกำหนดระยะเวลาให้สมาชิกมารับเงินจากกองทุน   ห้ามมิให้ข้อบังคับกำหนดว่า หากสมาชิกไม่มารับเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้  ให้เงินดังกล่าวตกเป็นของบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

ทำไมต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โครงสร้างประชากรในประเทศไทยมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนวัยทำงานต่อผู้สูงอายุเป็น 6 : 1 ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานปัจจุบันจะแปรเปลี่ยนไปเป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่วัยเด็กปัจจุบันจะแปรเปลี่ยนไปเป็นวัยทำงาน โดยมีสัดส่วนวัยทำงานต่อผู้สูงอายุเป็น 3 : 1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาระที่คนวัยทำงานต้องเลี้ยงดู ผู้สูงอายุมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว  ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่สำคัญเป็นผลมาจากความสำเร็จของนโยบายการคุมกำเนิดในประเทศไทย ช่วงระยะเวลาหนึ่งในอดีต รวมทั้งแพทย์ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ในขณะที่คนวัยทำงานมีจำนวนลดลง  ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐและคนวัยทำงานในอนาคตในการเลี้ยงดูผู้ที่สูงอายุหรือผู้ที่ไม่มีงานทำ เราจึงต้องตระหนักถึงปัญหานี้พร้อมกับการรณรงค์ส่งเสริมการออมเพื่อให้ ประชาชนมีเงินออมและสามารถช่วยเหลือเลี้ยงดูตัวเองได้เมื่อเกษียณอายุหรือ เมื่อไม่มีงานทำ โดยการสมัครเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

หน้าที่ทั่วไป

นอกเหนือจากคณะกรรมการกองทุนจะทำหน้าที่บริหารงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็มีหน้าที่ต้องรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเองด้วยเช่นกัน รวมทั้งต้องติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างต่อเนื่องด้วย โดยสิทธิและหน้าที่ที่สมาชิกพึงปฏิบัติมีดังนี้

ทุกเดือน นายจ้างจะหักเงินจากเงินเดือนของสมาชิกเพื่อส่งเข้ากองทุน  ทั้งนี้การหักเงินสะสมของสมาชิกเข้ากองทุนให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 และไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือน ดังนั้นสมาชิกมีหน้าที่ตรวจสอบการนำเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าถูกต้องหรือไม่ โดยดูจากใบรับรองการจ่ายเงินเดือน ซึ่งควรเก็บไว้เพื่อตรวจสอบกับรายงานรอบ 6 เดือนด้วย หากพบว่าไม่ถูกต้องรีบแจ้งคณะกรรมการกองทุน

ทุก 6 เดือน บริษัทจัดการจะส่งรายงานรอบ 6 เดือน ที่แสดงยอดเงินสะสมและเงินสมทบให้สมาชิกภายในเดือนมกราคมและกรกฎาคมของทุกปี ซึ่งสมาชิกควรดูข้อมูลดังต่อไปนี้

  • เงินสะสม : ดูว่ายอดเงินรวม 6 เดือน ตรงกับยอดเงินที่เข้ากองทุนในแต่ละเดือนหรือไม่
  • เงินสมทบ : ดูว่ามียอดเงินตามที่กำหนดในข้อบังคับกองทุนหรือไม่
  • จำนวนหน่วย : ดูว่าเพิ่มขึ้นตราบเท่าที่มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น
  • มูลค่าต่อหน่วย : หากมูลค่าเพิ่มขึ้น แสดงว่าผลประกอบการของกองทุนดีขึ้น แต่หากมูลค่าลดลง แสดงว่าผลประกอบการของกองทุนลดลง

ในทุกๆ ปี

  • สมาชิกควรเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานของกองทุน รวมทั้งทิศทางการดำเนินงานในปีต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องผลการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งในการประชุมสมาชิกสามารถซักถามข้อสงสัยได้
  • สมาชิกควรใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้าง เนื่องจากกรรมการกองทุนจะเป็นตัวแทนสมาชิกในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของกองทุนและสมาชิก ทั้งนี้ความถี่ในการจัดการเลือกตั้งกรรมการกองทุนขึ้นอยู่กับวาระของกรรมการกองทุนด้วย เช่น ทุกปี หรือทุก 2 ปี เป็นต้น

ในการรักษาผลประโยชน์ยังมีข้อมูลสำคัญที่สมาชิกควรทราบหรือสอบถามเพิ่มเติมด้วย เช่น

  • ใครเป็นกรรมการกองทุนในที่ทำงานของคุณ เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้
  • ใครเป็นผู้จัดการกองทุน (บริษัทจัดการ) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • นโยบายการลงทุนของกองทุนเป็นอย่างไร ปัจจุบันกองทุนลงทุนในอะไรบ้าง
  • มีความเสี่ยงอะไรที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของกองทุนบ้าง

เมื่อสิ้นสมาชิกภาพ
การสิ้นสมาชิกภาพอาจเกิดจากการเกษียณอายุ ออกจากงาน โอนย้ายกองทุน หรือสมาชิกเสียชีวิต  สมาชิกควรศึกษาวิธีการขอรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากคณะกรรมการกองทุน เนื่องจากแต่ละกองทุนอาจมีวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่บริษัทจัดการจะจ่ายเป็นเช็คให้แก่สมาชิก ทั้งนี้มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • กรณีสมาชิกเกษียณอายุ/ออกจากงาน

สมาชิกติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อให้แจ้งการสิ้นสมาชิกภาพของสมาชิกพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้บริษัทจัดการทราบ  หลังจากนั้นบริษัทจัดการจะดำเนินการส่งเงินให้สมาชิกโดยตรงหรือผ่านคณะกรรมการกองทุน

  • กรณีโอนย้ายกองทุน

สมาชิกติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อแจ้งการโอนย้ายกองทุนไปยังกองทุนอื่น เมื่อคณะกรรมการกองทุนแจ้งให้บริษัทจัดการทราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว บริษัทจัดการอาจดำเนินการส่งเงินคืนให้สมาชิก เพื่อให้สมาชิกนำไปมอบให้แก่บริษัทจัดการรายใหม่ หรือบริษัทจัดการอาจดำเนินการส่งเงินต่อให้แก่บริษัทจัดการรายใหม่โดยตรงก็ได้

  • กรณีสมาชิกเสียชีวิต

ผู้รับประโยชน์ที่สมาชิกได้ระบุชื่อไว้ต้องติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อ แจ้งบริษัทจัดการทราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้น บริษัทจัดการจะดำเนินการออกเช็คในนามผู้รับผลประโยชน์ตามที่สมาชิกได้ระบุไว้ในใบสมัคร  ส่วนกรณีที่ไม่ได้มีการระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ บริษัทจัดการจะจ่ายให้บุตร สามีหรือภริยา และบิดามารดา ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ระยะเวลาที่จะได้รับเงิน

สมาชิก จะได้รับเงินภายใน 30 วันนับแต่วันที่สิ้นสมาชิกภาพ ตามวิธีการรับเงินที่ระบุไว้ ดังนั้น หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ได้รับเงิน สมาชิกควรทวงถามไปยังคณะกรรมการกองทุนหรือบริษัทจัดการ ทั้งนี้ หากมีเจ้าหนี้ขอรับเงินแทนสมาชิกหรือมีบุคคลใดขอยึดหรือหน่วงเหนี่ยวเช็คไว้จะไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

การตรวจสอบจำนวนเงินที่ได้รับ

สมาชิกจะได้รับเงิน 2 ส่วน คือ

  • เงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม : สมาชิกต้องได้รับทั้งจำนวน
  • เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ : สมาชิกจะได้รับตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน หากสมาชิกทำงานต่ำกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อาจไม่ได้รับเงินส่วนนี้  ทั้งนี้สมาชิกขอดูข้อบังคับกองทุนได้ที่คณะกรรมการกองทุน

การคงเงินไว้ในกองทุน/การโอนย้ายกองทุน

กรณีขอคงเงินไว้ในกองทุน กฎหมายกำหนดไว้ว่า เมื่อลูกจ้างรายใดสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ลูกจ้างรายนั้นมีสิทธิคงเงินทั้งหมดที่มีสิทธิได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไป โดยลูกจ้างและนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่า 90 วันนับแต่วันที่ออกจากงาน

กรณีที่สมาชิกแจ้งความจำนงขอโอนย้ายไปยังกองทุนอื่น สมาชิกอาจขอรับเงินได้ 2 วิธี คือ บริษัทจัดการเดิมส่งมอบเช็คให้แก่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งต่อให้สมาชิกนำไป มอบให้แก่บริษัทจัดการใหม่ หรือบริษัทจัดการเดิมส่งเช็คให้แก่บริษัทจัดการใหม่โดยตรง

ข้อพึงระวัง

หาก สมาชิกลาออกจากกองทุนโดยที่ยังไม่เกษียณอายุ สมาชิกอาจจะเสียผลประโยชน์จากเงินสมทบที่จะได้รับไม่เต็มจำนวน อีกทั้งเงินที่ได้รับจากกองทุนในส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสะสม /เงินสมทบ จะต้องถูกหักภาษีด้วย